ขออนุญาตนำบทความที่ผมเขียนไว้ที่เวปเพื่อนบ้าน มาลงให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ หากมีสิ่งใดผิดพลาดหรือหากว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องก็ต้องขออภัยล่วงหน้าไว้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ผมเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ล้วน ๆ ครับ
วันนี้ผมจะมาคุยกับเพื่อนสมาชิกในหัวข้อเรื่อง " วิธีการตัดความถี่จากครอสให้กับตู้ลำโพงแต่ละย่าน (เบื้องต้น) "
ทำไมถึงมีวงเล็บว่า เบื้องต้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าตู้ลำโพงที่เราใช้งานกันอยู่นั้น มีหลากหลายสูตร หลากหลายยี่ห้อ ทำให้การเลือกตัดความถี่จากครอส ไปยังตู้ลำโพงแต่ละตัวนั้นผิดแผก แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในเบื้องต้นนั้น ใกล้เคียงกันมาก จึงจะขอพูดคุยกันถึงวิธีการเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานก่อน ส่วนในรายละเอียดนั้น ท่านต้องไปทำการปรับให้เข้ากับตู้ลำโพงที่ท่านใช้งานอีกครั้งหนึ่ง
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความถี่เสียงที่หูมนุษย์ สามารถตอบสนองได้นั้นเริ่มตั้งแต่ 20Hz ไปจนกระทั่ง20kHz และยังตอบสนองต่อความถี่ต่างๆ ได้ดีไม่เท่ากันอีกด้วย
เรามาดูภาพประกอบกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
ย่านความถี่ของเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ
ขออนุญาตยกบทความจากเวปไซด์เครื่องเสียงรถยนต์ (emotioncar.com) มาตอนหนึ่งเพื่ออธิบายรูปด้านบน
(กินแรงชาวบ้าน) แต่ขออนุญาตแก้ไขบางประโยค เพื่อให้เข้ากับเครื่องเสียงกลางแจ้งที่เรากำลังคุยถึงกันอยู่
ช่วงการตอบสนองความถี่หากแบ่งคร่าวๆ จะแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง แต่กราฟนี้จะแยกให้ละเอียดขึ้นไปอีก โดยแบ่งออกเป็น 8 ช่วงความถี่ดังนี้
ช่วงที่ 1 เรียกว่าย่านเบสลึก ประมาณ 20-40 ช่วงนี้จะไม่ได้ยิน แต่จะได้ความรู้สึก แบบว่าสิ่งของรอบข้างสั่นสะท้าน
ช่วงที่ 2 เรียกว่าย่านพลังเบสแล้วกัน ประมาณ 40-100 ช่วงนี้จะเป็นช่วงเสียงเบสที่มีความรู้สึกกระแทกๆ เช่น เสียงกลองจากใบที่ใหญ่ที่สุด ที่ใช้เท้าเหยียบ เสียงกระแทกจุกอกก็ช่วงนี้แหละครับ
ช่วงที่ 3 เรียกว่าย่านเบสปกติ ประมาณ 100-200 เช่นพวกกีต้าร์เบสเส้นกลางๆ (ถ้าเป็นสายเส้นใหญ่ อาจจะลงไปถึงช่วงพลังเบส หรือปลายๆเบสลึกได้เลย) ถ้าช่วงนี้ขาดไปแบบว่าน้อยไป เราก็จะรู้สึกว่าขาดเสียงเบส แต่ถ้ามากเกินไป ก็จะทำให้เสียงโดยรวมฟังดูทึบๆได้ ที่เราฟังเพลงแล้วบอกว่าเสียงกลางน้อยไป จริงๆอาจจะไม่ใช่นะ
ครับ อาจจะเป็นที่ช่วงนี้มากเกินไป แล้วไปกลบเสียงกลาง
ช่วงที่ 4 เรียกว่าย่านเนื้อเสียงแล้วกัน ประมาณ 200-800 ย่านนี้จะครอบคลุมถึงเสียงร้องย่านต่ำๆ เช่นเสียงผู้ชายต่ำๆ ถ้าช่วงนี้มีมากกำลังดี จะช่วยเรื่องความอุ่นของเสียง Warmth sound ถ้ามากไปเสียงรวมๆก็จะไม่เคลียร์เท่าที่ควร ถ้าน้อยไปก็จะขาดเนื้อเสียง
ช่วงที่ 5 เรียกว่าย่านเสียงกลางหลักแล้วกัน ประมาณ 800-2,000 ย่านนี้มีเครื่องดนตรีหลายชนิด รวมไปถึงเสียงร้องหลักๆ ถ้าขาดย่านนี้ไป เสียงจะเบาบาง บี้แบน แต่ถ้ามากเกินไป มันจะดังหนวกหู
ช่วงที่ 6 เรียกว่าย่านเสียงกลางสูงแล้วกัน ประมาณ 2,000-5,000 ย่านนี้จะมีเสียงเครื่องเป่า พวกกีต้าร์สายเส้นเล็ก ถ้าย่านนี้มากเกินไป ฟังนานๆหูจะล้า แต่ถ้ามากเกินไปเยอะจะแสบหูเลย
ช่วงที่ 7 เรียกว่าย่านเสียงแหลม ประมาณ 5,000-10,000 ย่านนี้ผมเรียกว่าย่านเนื้อเสียงแหลมแล้วกัน เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะทองเหลืองทั้งหลาย ถ้าช่วงนี้หายไป เสียงจะดูทึบๆ แต่ถ้ามากเกินไปเสียงเครื่องเคาะประเภทนี้จะฟังดูพุ่งเกินจริง
ช่วงที่ 8 เรียกกว่าย่านปลายแหลม ประมาณ 10,000-20,000 ย่านนี้จะมีเสียงฉาบอยู่ด้วย แล้วจริงๆย่านนี้จะไม่ค่อยมีเสียงหลักของเครื่องดนตรีอะไร แต่ว่ามันจะเป็นลักษณะของบรรยากาศมากกว่า ถ้าขาดย่านนี้ไป อาจจะฟังดูเสียงเครื่องดนตรีครบอยู่ ฟังดูเผินๆอาจจะเหมือนย่านนี้ไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วมีสำคัญไม่น้อยเลย ถ้าขาดย่านนี้ เสียงจะไม่มีความไพเราะ ขาดบรรยากาศที่น่าฟัง
เมื่อเรามาพิจารณาถึงย่านเสียงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากเราสามารถจัดระบบเสียงของเราให้ย่อยออกได้ถึง 8 ย่าน ก็จะได้สามารถปรับแต่งให้เสียงออกมาได้น่าฟัง และใกล้เคียงกับเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราคงไม่สามารถจัดระบบเสียงของเราให้แบ่งย่อยออกได้ถึง 8 ย่านความถี่แน่ ๆ ซึ่งระบบเสียงที่นิยมใช้งานกันมากที่สุดในวงการเครื่องเสียงกลางแจ้ง ก็คงหนีไม่พ้นระบบ 2 ทางและ ระบบ 3 ทาง แบบที่เพื่อน ๆ สมาชิกใช้กันอยู่ตอนนี้
เราจะทำการจัดแบ่งความถี่ทั้ง 8 ย่าน เสียใหม่ ให้เหลือเพียง 2 ย่าน หรือ 3 ย่าน ตามระบบเสียงของเรากันอย่างไรดี ? โดยคร่าว ๆ ที่รับรู้กันก็คือ
- ย่านเสียงต่ำ Low Range
- ย่านเสียงกลาง Mid Range
- ย่านเสียงสูง High Range
แต่คำถามคือ แล้วเราจะตัดแบ่งความถี่ในแต่ละย่านให้เหมาะสมกับตู้ลำโพงในระบบของเราได้อย่างไร ? ถ้าตอบกันแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ดูจากสเปคของดอกลำโพงที่เราใช้ในแต่ละย่านเป็นหลัก